ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมของไทยที่มุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นหลักนั้น ความต้องการพลังงานเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อนำไปใช้ในระบบการผลิต การขนส่ง และกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
สิ่งหนึ่งที่ทุกประเทศต้องใช้ในการแลกเปลี่ยนกับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ คือ การสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานที่หมดไปเรื่อยๆ พร้อมกันกับคุณภาพสิ่งแวดล้อมที่แย่ลง
ในอดีต การใช้พลังงานทั่วโลกต่างมุ่งเน้นไปที่ พลังงานเชิงพาณิชย์ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ หรือ ถ่านหิน ซึ่งพลังงานเหล่านี้ นอกจากจะสร้างมลพิษในปริมาณที่สูงมาก (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ่านหิน) แล้ว ยังเป็นพลังงานที่ใช้แล้วหมดไป (Depleted energy) การที่จะนำประเทศไปพึ่งพิงเฉพาะพลังงานประเภทนี้เป็นหลักนั้นสามารถทำได้ในทางปฏิบัติ พร้อมกับการรณรงค์ให้มีจิตสำนึกประหยัดพลังงาน และต้องมีการส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) ไปควบคู่กัน
· พลังงานหมุนเวียนและพลังงานจากชีวมวล
พลังงานหมุนเวียนในโลกนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภทหลัก ดังนี้
(1) พลังงานหมุนเวียนที่มาจากแสงอาทิตย์โดยตรง ซึ่งคือ พลังงานแสงอาทิตย์
(2) พลังงานหมุนเวียนที่มาจากแสงอาทิตย์โดยอ้อม เช่น พลังงานลม, คลื่น, หรือ ชีวมวล(และชีวภาพ)
(3) พลังงานหมุนเวียนที่ไม่เกี่ยวข้องกับแสงอาทิตย์ เช่น พลังงานใต้พิภพ, น้ำขึ้น-น้ำลง
พลังงานทั้งสามประเภท ต่างมีศักยภาพที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะภูมิประเทศและภูมิอากาศ สำหรับในประเทศไทยนั้น นอกเหนือจากพลังงานจากแสงอาทิตย์แล้ว พลังงานชีวมวลจัดได้ว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และที่สำคัญคือ มีศักยภาพสูงมากอีกด้วย
ชีวมวล (Biomass) คือสารทุกรูปแบบที่ได้มาจากสิ่งมีชีวิต โดยไม่นับการกลายเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลไปแล้ว เช่น สิ่งที่ได้หรือเหลือใช้จากการเกษตร (เช่น แกลบ ชานอ้อย ฟางข้าว), ขยะมูลฝอย, น้ำเสียจากโรงงาน หรือ แม้กระทั่งมูลสัตว์ต่างๆ มีรายงานว่า พลังงานชีวมวลนี้มีสัดส่วนการใช้คิดเป็น 14.7% ของพลังงานรวมของโลก ประมาณกันว่า ประชากรกว่า 40% ของประชากรโลก อาศัยชีวมวลในการหุงต้มและให้ความอบอุ่น และหากพิจารณาเฉพาะปริมาณการใช้ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกนั้น การใช้พลังงานชีวมวลจะมีสัดส่วนที่ 38.1% ของการใช้พลังงานทั้งหมด โดยมีจีนและอินเดีย เป็นประเทศผู้ใช้หลัก
สำหรับในประเทศไทยนั้น ข้อมูลล่าสุดคือในปี พ.ศ. 2545 ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ได้รายงานว่าสัดส่วนการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของพลังงานเชิงพาณิชย์ต่อพลังงานชีวมวล อยู่ที่ประมาณ 83:17 ซึ่งลดลงจาก 10 ปีก่อน ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 70:30 นั่นหมายความว่า เรามีการใช้พลังงานชีวมวลในสัดส่วนที่น้อยลงอย่างมาก แต่กลับไปใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ ซึ่งส่วนใหญ่แล้วต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศในสัดส่วนที่มากขึ้น เป็นสาเหตุให้มูลค่าการนำเข้าพลังงานของประเทศสูงขึ้นทุกปี โดยในปี 2545 คิดเป็นมูลค่าถึง 336,388 ล้านบาท (85% ใช้ไปกับการซื้อน้ำมันดิบ)
คำถามที่ตามมาคือ เราจะสามารถเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานชีวมวลได้ในทางใดบ้าง และในปริมาณที่มากน้อยเพียงใด
· ศักยภาพของพลังงานชีวมวล
ทาง พพ. ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักของประเทศในด้านพลังงานหมุนเวียน ได้ทำการสำรวจศักยภาพของวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรของพืช 10 ชนิดหลักของประเทศ โดยได้พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการเก็บหรือนำวัสดุเหล่านั้นกลับมาใช้ตามสภาพความเป็นจริง พบว่า ในปี 2543 ประเทศไทยมีปริมาณวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรรวม 63 ล้านตัน และมีการนำไปใช้งานเป็นเชื้อเพลิงและอื่นๆเพียง 16 ล้านตันเท่านั้น ส่วนที่ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้และมีศักยภาพในการให้พลังงานนั้นมีสูงถึง 42 ล้านตัน และหากนับรวมถึงก๊าซชีวภาพที่ได้จากมูลสัตว์ ขยะ และน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรม มาประกอบการประเมิน และได้คิดเผื่อถึงความเป็นไปได้ทุกอย่างในการนำพลังงานกลับมาใช้จริงแล้ว พบว่า ในปี 2543 เพียงปีเดียว ประเทศไทยมีศักยภาพของพลังงานชีวมวลถึง 650 เพตาจูล
ตัวเลขในเชิงพลังงานนี้อาจดูไม่คุ้นเคยนัก แต่หากเปลี่ยนตัวเลขนี้เป็นปริมาณพลังงานที่ได้จากน้ำมันดีเซล ตัวเลขนี้เทียบเท่ากับพลังงานความร้อนที่ได้จากน้ำมันดีเซลหมุนเร็วปริมาณ 17,850 ล้านลิตร เลยทีเดียว (ในปี 2545 ไทยใช้น้ำมันดีเซลทั้งปีรวม 15,970 ล้านลิตร)
โดยส่วนเหลือจากอ้อย เช่นชานอ้อยหรือยอดและใบอ้อย แกลบและฟางข้าว และส่วนเหลือของปาล์มน้ำมัน เช่นกะลา ทะลาย หรือเส้นใยปาล์ม จัดเป็นกลุ่มชีวมวลที่มีสัดส่วนสูงที่สุด คิดเป็น 85% ของศักยภาพชีวมวลทั้งหมดของประเทศ
แล้วชีวมวลที่มีเหลือมากมายนี้ จะไปใช้ประโยชน์อย่างไรได้บ้าง
โดยทั่วไปแล้ว การนำชีวมวลไปใช้มี 2 ประเภทคือ
หนึ่ง นำไปใช้เพื่อให้ได้มาซึ่งพลังงานความร้อน เช่น การนำฟืนไปใช้ในเตาอั้งโล่ของชาวบ้าน หรือ การนำเศษไม้ที่เหลือจากการผลิตของโรงงานทำไม้ไปใช้ในหม้อไอน้ำเพื่อให้ได้ไอน้ำไปใช้ในการอบไม้ และ
สอง นำชีวมวลไปใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า เช่น โรงน้ำตาลใช้กากอ้อยที่ได้จากการหีบอ้อยเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า หรือ โรงสีขนาดใหญ่ที่ใช้แกลบเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เป็นต้น
ในประเภทแรกนั้น ไทยได้นำชีวมวลไปใช้ในสร้างพลังงานความร้อนมาเป็นระยะเวลานานแล้วในระดับครัวเรือน โดย ฟืน และถ่าน จัดเป็นชีวมวลสองชนิดที่มีปริมาณการใช้สูงสุดในภาคครัวเรือนของไทย ส่วนในภาคอุตสาหกรรมนั้น กากหรือชานอ้อยและแกลบ จัดเป็นชีวมวลที่มีปริมาณการใช้สูงสุดในการผลิตพลังงานความร้อน ทั้งนี้ ศักยภาพการใช้พลังงานในระดับครัวเรือนยังมีอีกสูงมาก เพียงแต่ชาวบ้านยังขาดความเข้าใจในวิธีการใช้และเก็บรักษาที่ถูกต้อง ชีวมวลบางประเภทเช่น ฟืนหรือถ่าน จะมีคุณสมบัติด้านความร้อนที่ต่ำลงมาก หากมีการเก็บรักษาที่เหมาะสม นอกจากนี้ ชาวบ้านยังไม่ทราบถึงวิธีการนำชีวมวลไปใช้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ส่วนใหญ่ยังนำฟืน หรือ ถ่านไปใช้ในเตาอั้งโล่แบบเก่า ซึ่งมีการสูญเสียความร้อนสูงมาก จะทำให้สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงชีวมวลมากเกินความจำเป็น
การแก้ปัญหานี้ ทางรัฐบาลควรทำการประชาสัมพันธ์หรือแนะนำ การนำชีวมวลไปใช้อย่างถูกต้องแก่ชุมชน ไม่ว่าจะเป็นการฝึกอบรมผ่าน อบต. หรือ การโฆษณาทางสื่อต่างๆเป็นระยะๆ มีการรณรงค์จำหน่ายอุปกรณ์ชีวมวลประสิทธิภาพสูง (เช่นเตาประสิทธิภาพสูง) ให้แก่ชาวบ้านในราคาที่ต่ำ เป็นต้น
ในประเภทที่สอง การนำชีวมวลไปผลิตไฟฟ้ายังจำกัดเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมประเภทที่ใช้กากอ้อยและแกลบเป็นเชื้อเพลิงหลัก แม้ว่าแท้จริงแล้ว ประเทศยังมีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากชีวมวลอีกมาก ดังแสดงในตารางประกอบ ซึ่งแสดงถึงศักยภาพของชีวมวลของไทยในการผลิตไฟฟ้าเป็นค่าเฉลี่ยรายปีระหว่างปี 2542-2545 โดย พพ. พบว่า หากมีการนำชีวมวลที่เหลือใช้เหล่านี้กลับไปใช้เป็นพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น คาดว่าประเทศไทยจะมีกำลังผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 14,000 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี (14,000 ล้านหน่วย) หรือเปรียบได้กับมีโรงไฟฟ้าขนาด 1,800 MW เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง
ด้วยขนาดเท่านี้ อาจจะหมายถึงประเทศสามารถรองรับการขยายตัวของการใช้ไฟฟ้าของประเทศได้อีกถึงหนึ่งปีครึ่ง เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้น ปัจจุบัน เขื่อนภูมิพลมีกำลังการผลิตสูงสุดที่ 743.8 MW และโรงไฟฟ้าแม่เมาะมีกำลังผลิตรวม 2,625 MW ซึ่งจากตัวเลขทั้งหมด จะเห็นได้ว่า การนำชีวมวลที่เหลือจากการเกษตรมาผลิตไฟฟ้านั้น เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในระหว่างที่ประเทศมีแนวโน้มที่จะขาดแคลนไฟฟ้าในอนาคต เพราะการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลทำได้ลำบาก ขณะที่โรงไฟฟ้าชีวมวลมีศักยภาพสูงที่จะผลิตและใช้ได้ในพื้นที่ และยังสามารถสร้างกระจายตามพื้นที่ต่างๆ ได้ทั่วประเทศตามแหล่งผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลนั้นๆ
ศักยภาพชีวมวลของไทยในการผลิตไฟฟ้า (ค่าเฉลี่ยรายปีระหว่างปี 2542-2545)
ชนิด | ปริมาณเหลือใช้ | ปริมาณใช้ได้จริง | ค่าพลังงาน | ขนาดโรงไฟฟ้า (ประมาณ) |
ล้านตันต่อปี | ล้านตันต่อปี | ล้านล้านจูลต่อปี | MW | |
ฟางข้าว | 10.84 | 7.42 | 75,952 | 549.66 |
แกลบ | 5.58 | 2.62 | 37,320 | 270.08 |
ต้นและใบอ้อย | 15.29 | 7.64 | 66,510 | 481.33 |
ชานอ้อย | 12.74 | 1.27 | 10,588 | 76.63 |
เศษกิ่งไม้ยางพารา | 9.40 | 4.53 | 38,966 | 282.00 |
เหง้ามันสำปะหลัง | 3.15 | 1.58 | 14,197 | 102.75 |
ผลิตภัณฑ์จากปาล์ม | 1.37 | 0.82 | 6,854 | 49.60 |
รวม | 58.38 | 25.88 | 250,387 | 1,812.05 |
ที่มา: กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ยกเว้น ข้อมูลปริมาณเหลือใช้ จาก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
· ข้อดีและข้อเสีย
ชีวมวลเป็นพลังงานที่มาจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรที่ไม่มีวันหมดไป เพราะวงจรการผลิตชีวมวลคือวงจรของพืชที่มีระยะเวลาสั้น ต่างจากน้ำมันหรือถ่านหินที่ต้องอาศัยการทับถมกันเป็นเวลาหลายล้านปี นอกจากนี้ ชีวมวลสามารถผลิตได้ภายในประเทศ เกษตรกรจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการจำหน่ายชีวมวลสู่ผู้ใช้ และยังช่วยลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศได้อีกด้วย
ข้อดีที่สำคัญทางสิ่งแวดล้อมคือ การใช้ชีวมวลในการผลิตความร้อนหรือไฟฟ้าจะไม่เพิ่มปริมาณสุทธิของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศโลก ในกรณีที่เรามีการผลิตชีวมวลขึ้นมาเพื่อทดแทนชีวมวลที่ได้ใช้ไป เพราะจะทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถูกหมุนเวียนมาใช้ในชีวมวลที่ผลิตใหม่เท่ากับปริมาณก๊าซที่ถูกผลิตจากการเผาไหม้ชีวมวลนั้นๆ เนื่องจากพืชต้องหายใจเพื่อเอาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เข้าไปใช้ในการเจริญเติบโต อีกทั้งชีวมวลยังมีปริมาณกำมะถันต่ำกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลมาก นั่นหมายถึง การใช้ชีวมวลจะลดโอกาสในการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse effect) ซึ่งตรงข้ามกับการใช้น้ำมันในภาคขนส่ง หรือถ่านหินในโรงไฟฟ้า
แต่เมื่อมีข้อดี ชีวมวลก็ย่อมมีข้อเสีย ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่า ชีวมวลมีการเก็บรักษาและการขนส่งที่ยาก และมีความเสี่ยงสูงในการจัดหาหรือรวบรวมปริมาณชีวมวลที่ต้องการใช้ให้คงที่ตลอดปี เพราะชีวมวลบางประเภทเช่นกากอ้อยมีจำกัดเพียงบางเดือน อีกทั้งชีวมวลทุกประเภทต่างต้องการพื้นที่ในการเก็บรักษาขนาดใหญ่กว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น หากต้องการปริมาณความร้อนที่เท่ากัน จะต้องใช้แกลบในปริมาณที่มากกว่าน้ำมันเตา เป็นต้น ดังนั้น การพัฒนาระบบวิธีการจัดเก็บและขนส่งจึงสำคัญและจำเป็นมาก
นอกจากนี้ ราคาไฟฟ้าที่รัฐบาลรับซื้อมาจากโรงไฟฟ้าชีวมวล หรือที่เรียกว่าผู้ผลิตรายเล็ก (SPPs: Small power producers) นั้น ยังไม่ดึงดูดใจในการลงทุนมากนัก เรื่องนี้ สามารถจัดการได้ด้วยการรณรงค์ให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการผลิตไฟฟ้า ด้วยราคารับซื้อที่ดึงดูดให้น่าลงทุนมากขึ้น โดยใช้หลักการคำนวณต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อม (Social and environmental cost) เข้าไปในราคารับซื้อไฟฟ้าด้วย และสร้างระบบประกันราคาชีวมวลเพื่อลดความเสี่ยงของการขาดแคลนชีวมวลในบางฤดูให้ลดต่ำลง
· สรุป
ไม่จำเป็นเสมอไปที่ประเทศจะต้องพึ่งพาเทคโนโลยีพลังงานลมหรือแสงอาทิตย์ ที่ยังคงมีต้นทุนต่อหน่วยสูง หรือ การสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนจากถ่านหินแห่งใหม่ที่ปล่อยมลพิษในระดับที่สูงขณะผลิตไฟฟ้า ในปัจจุบัน พลังงานจากชีวมวลที่ประเทศมีเหลือใช้อยู่มากนั้น สามารถนำมาใช้เป็นพลังงานความร้อนและผลิตไฟฟ้าได้ ด้วยราคาที่ไม่สูงจนเกินไปนัก ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่ำมาก และยังสามารถเสริมรายได้ให้แก่เกษตรกรในท้องถิ่นได้อีกด้วย
|
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น