นำกะลาเป็นพลังงานทดแทน

รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้ปลูกปาล์มน้ำมัน 5 ล้านไร่ ภายในปี 2552 เพื่อ เตรียมผลผลิตออกมาสำรองในการบริโภคและอุปโภค โดยเฉพาะได้ มุ่งเน้นสู่ภาคอุตสาหกรรมใช้เป็นพลังงานทดแทน
การใช้ประโยชน์จาก ปาล์มนั้น สามารถนำมาใช้ได้ แทบทุกชิ้นทุกส่วนทุกกระบวนการ แม้แต่กับการปศุสัตว์ ดั่งเช่น นายพฤทธินนท์ ฉายากุล ปราชญ์เกษตรจังหวัดสุราษฎร์ธานีได้เอาใบปาล์มมาใช้เป็นส่วนผสมของอาหารสัตว์
และนอกจากเม็ดปาล์มที่นำไปหีบเอาน้ำมันแล้วทะลายปาล์มนำไปใช้เพาะ เห็ด และอื่นๆได้อีกมากมายหลายอย่างที่น่าสนใจ อีกอย่างคือ กะลาปาล์ม ซึ่งในอดีตทิ้งไปอย่างไร้ค่า ปัจจุบันมีการนำมาทำเป็นวัตถุดิบที่มีมูลค่าเพิ่ม...โดยใช้ เป็นเชื้อเพลิงพลังงานทดแทนน้ำมันเตาได้ไม่แพ้พลังงานจากปิโตรเลียม
นาย อนันต์ มากนุ่น วิศวกรเครื่องกลประจำโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำ (บ้านพรุ) บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ เป็นผู้หนึ่งที่นำเอากะลาปาล์มมาใช้ประโยชน์ในด้านพลังงานทดแทน และได้รับรางวัลผลงาน ดีเด่นด้านอนุรักษ์พลังงานและพัฒนาพลังงานทดแทน จาก กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ในการแข่งขัน Thailand Energy Awards....เล่าถึงเรื่องนี้ว่า
โรงงานได้ดำเนินการ ผลิตอาหารสัตว์ น้ำโดยใช้เชื้อเพลิงน้ำมันเตาวันละ 12,000 ลิตร ต้มหม้อน้ำผลิตอาหารสัตว์ เป็นต้นกำลังขับเคลื่อนเครื่องจักร ต่อมาเมื่อน้ำมันแพงก็ย่อม เป็นผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
เมื่อ 3 ปีที่แล้วจึงได้ดัดแปลงใช้ “กะลาปาล์มมาใช้ทดแทน” การใช้น้ำมันเตา โดย วัตถุดิบกะลาปาล์มทั้งหมดได้มาจากภาคการเกษตรภายในบ้านเรา... เมื่อไม่เพียงพอก็รับซื้อมาจากประเทศเพื่อนบ้าน
เมื่อนำมาเปรียบ เทียบค่าใช้จ่ายกะลาปาล์มมีต้นทุนเพียง 400 บาทต่อการผลิตไอน้ำ 1 ตันไอน้ำ แต่ถ้าใช้น้ำมันเตาต้นทุนอยู่ที่ 850 บาทต่อการผลิตไอน้ำ 1 ตันไอน้ำ ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนการผลิตได้ถึง 350 บาทต่อ 1 ตันไอน้ำ
นายจรัส อัศวชาญชัยสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธุรกิจผลิตอาหารสัตว์น้ำภาคใต้ ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของนายอนันต์ มากนุ่น ได้กล่าวเสริมว่า...การใช้กะลาปาล์มมาทดแทนน้ำมันเตา สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานตั้งแต่ปี 2547 ถึง 2549 ได้ประมาณ 32 ล้านบาท
ปัจจัยสำคัญในความสำเร็จคือ ความร่วมมือ และ สร้างความตระหนักของทรัพยากรมนุษย์ในโรงงานอุตสาหกรรม ต้องมีการอบรมพนักงานให้มีความรู้และความเข้าใจพื้นฐาน
และพยายามปลุกจิตสำนึกต่อการประหยัด... ซึ่งมีบทบาทต่อการอนุรักษ์และการพัฒนาพลังงานทดแทนในอนาคต
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2550
http://www.thairath.co.th/news.php?section=agriculture&content=68107