ประหยัดพลังงานด้วย "กะลาปาล์ม"



เศษ วัสดุเหลือใช้อย่างกะลาปาล์ม ในอดีตแทบจะไม่มีคุณค่าใดๆ นอกจากใช้เป็นเชื้อเพลิงเล็กๆ น้อยๆ ตามบ้านเรือน หรือทิ้งไปอย่างไร้ประโยชน์ แต่ CPF โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำบ้านพรุ จังหวัดสงขลา นำกะลาปาล์มกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักเพื่อผลิตอาหารสัตว์เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมา

รางวัลที่วางเรียงรายอยู่บนโต๊ะเกือบ 20 ประเภทได้แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) โรงงานบ้านพรุ จังหวัดสงขลา เป็นเครื่องยืนยันความตั้งใจ มุ่งมั่นในการอนุรักษ์พลังงานได้เป็นอย่างดี อย่างเช่นรางวัลล่าสุด โครงการเปลี่ยนหม้อไอน้ำเป็นแบบใช้เชื้อเพลิงชีวมวลด้วยการนำ กะลาปาล์มมาเป็นเชื้อเพลิง

"ผู้จัดการ" ได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมโครงการ ตามคำเชื้อเชิญของ CPF เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยมีจรัส อัศวชาญชัยสกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการธุรกิจผลิตอาหารสัตว์น้ำ และอนันต์ มากนุ่น วิศวกรเครื่องกล ร่วมให้ข้อมูล

โรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำบ้านพรุได้ก่อตั้งเมื่อ 13 ปีที่ผ่านมา มีหน้าที่ผลิตอาหารกุ้งกุลาดำ และอาหารกุ้งขาวจำนวน 24,000 ตันต่อเดือน เพื่อจำหน่ายสินค้าให้กับภาคใต้ตอนล่าง 10 จังหวัด อาทิ กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี นราธิวาส

กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ของโรงงานแห่งนี้จะใช้พลังงานอยู่ 2 ประเภท คือ ไฟฟ้า และน้ำมันเตา โดยน้ำมันเตาจะทำหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงให้กับหม้อไอน้ำเพื่อผลิตไอน้ำ และไอน้ำที่ได้มาจะทำหน้าที่นึ่งและอบอาหาร ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนของกระบวนการผลิต

น้ำมันเตาที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง นับวันราคาจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการมองหาเชื้อเพลิงชนิดใหม่เพื่อลดค่าใช้จ่าย

ต้นทุนน้ำมันเตาปัจจุบันมีราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่กะลาปาล์มมีราคา 2 บาทต่อกิโลกรัม แต่กะลาปาล์มที่นำมาใช้นำเข้ามาจากมาเลเซียทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะในเมืองไทยมีไม่เพียงพอที่จะใช้ในโรงงาน

ผลการเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ระหว่างปี 2549 และ ปี 2550 พบว่า ปี 2549 มีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานมูลค่า 119 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าเชื้อเพลิง 47 ล้านบาท และค่าไฟฟ้า 72 ล้านบาท ในปี 2550 ค่าใช้จ่ายพลังงานลดลงเหลือ 89 ล้านบาท หรือลดค่าใช้จ่ายได้ 30 ล้านบาท โดยเฉพาะหลังจากที่มาใช้กะลาปาล์มทำให้ลดค่าเชื้อเพลิงได้ 21 ล้านบาท

นอกเหนือจากลดค่าใช้จ่ายอย่างเห็นได้ชัด ในแง่ของสังคม CPF สามารถลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปสู่บรรยากาศได้มากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์

และเพื่อให้มีการประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น เมื่อต้นปี 2551 ที่ผ่านมา บริษัทได้นำขี้เลื่อยหรือเศษไม้ที่เกิดจากการเลื่อยไม้ นำมาผสมกะลาปาล์มทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้อีก 6 ล้านบาท

กะลาปาล์มจึงกลายมาเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไอน้ำตั้งแต่ปี 2549 ที่ผ่านมา

แม้ว่าหม้อไอน้ำที่ใช้กะลาปาล์มจะใช้แทนหม้อไอน้ำมันเตาก็ตาม แต่ด้วยกำลังการผลิต 24 ชั่วโมงใน 7 วัน หม้อไอน้ำมันเตาจึงต้องใช้เป็นเครื่องสำรอง และต้องมีการบำรุงรักษาอย่างต่อเนื่อง สร้างโรงงานเพื่อวางเครื่องจักรหม้อไอน้ำเชื้อเพลิงแข็ง มีห้องควบคุมการทำงานตลอด 24 ชั่วโมง จะมีพนักงานดูแล 2 คนต่อ 8 ชั่วโมง เพื่อทำหน้าที่ควบคุมความร้อนของไอน้ำและผสมกะลาปาล์มกับขี้เลื่อย และตักเชื้อเพลิงที่ผสมแล้วทุกๆ 1 ชั่วโมง ลงในเครื่องจักรเพื่อให้มีความร้อนผลิตไอน้ำได้ตลอดเวลา

ภายในโรงงานยังทำหน้าที่จัดเก็บกะลาปาล์ม และขี้เลื่อย ซึ่งโรงงานจะต้องใช้กะลาปาล์ม 70,000 ตันต่อปี และขี้เลื่อย 2,500 ตันต่อปี

นโยบายการผลิตพลังงานของ CPF ไม่ได้หยุดยั้งเพียงเท่านี้ เพราะตอนนี้กำลังมีแผนต่อยอด ด้วยการแสวงหาเชื้อเพลิงชนิดใหม่เข้ามาลดค่าใช้จ่าย "ทะลายปาล์ม" กำลังเป็นเป้าหมายใหม่ที่จะนำมาผสมกับกะลาปาล์มที่มีอยู่ในปัจจุบัน หลังจากที่พบว่า ค่าความร้อนใกล้เคียงกับกะลาปาล์ม แต่มีราคาถูกกว่า หรือ 1.3 บาทต่อกิโลกรัม

เป้าหมายการประหยัดพลังงานของกลุ่มซี.พี.ที่ธนินท์ เจียรวนนท์ เคยกล่าวเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมาบริษัทในกลุ่มซี.พี.กำลังเกิดผลอย่างเห็นได้ชัด และโรงงานผลิตอาหารสัตว์น้ำบ้านพรุก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของกลุ่มซี.พี.ที่ จริงจังในการใช้พลังงานทดแทน จนได้รับรางวัลมาอย่างต่อเนื่อง  
 อ้างอิง http://www.gotomanager.com